นกต่างๆ ที่เราควรรู้จัก
1. นกจาบคาหัวเขียว
ลักษณะทั่วไป
- ทั้งตัวผู้และตัวเมียเหมือนกัน ปากสีดำไม่โค้งแหลมมากนัก หัวหลังและขนคลุมหลังตลอดจนปีกเป็นสีเขียวครึ่งของหลัง ขนคลุมโคนหางและหางเป็นสีน้ำเงิน มีขนคู่กลางของหางแหลมยื่นยาวออกไปประมาณครึ่งหนึ่งของหาง บริเวณแถบหน้าของตาและหลังของตาเป็นแถบสีดำ ม่านตาสีน้ำตาลแดง ถัดขอบตาลงมาเป็นสีขาวอมเหลือง ใต้คอเลยหน้าอกนิดๆเป็นสีน้ำตาล ท้องสีเขียวอ่อน ตีนดำ เวลาบินรูปปีกจะมีลักษณะคล้ายรูปสามเหลี่ยม ใต้ปีกเป็นสีน้ำตาล กึ่งบินกึ่งร่อน ขณะบินส่งเสียงร้องกริ๊วๆๆไปด้วย ชาวบ้านจึงชอบเรียก "นกกะติ้ว" ขนาดประมาณ 30 ซม.เมื่อโตเต็มวัยจากปลายปากถึงปลายหาง จะเจาะรูทำรังอยู่ริ่มตลิ่งที่ค่อนข้างสูงชันมีลักษณะดินปนทราย ลึกประมาณ 60 ซม. 90 ซม. วางไข่ประมาณ 2 - 4 ฟอง ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันหาอาหารมาป้อนลูก อาหารจะเป็นพวกแมลงที่บินอยู่กลางอากาศ เช่น แมลงปอ ผีเสื้อ จะไม่กินอาหารหรือแมลงที่ตายแล้วหรืออยู่กับที่
- เนปาล, อินเดีย, ศรีลังกาและไทย สำหรับประเทศไทยมีทั้งนกอพยพและนกประจำถิ่น ในส่วนบริเวณภาคกลางและริมฝั่งแม่น้ำแควน้อยจะเป็นนกประจำถิ่น แต่สำหรับทางภาคเหนือจะเป็นนกที่อพยพเข้ามาหากิน และผสมพันธุ์ ส่วนภาคอื่นหรือบางส่วนก็จะหากินสักพักแล้วอพยพผ่านไป
2. นกกระเต็นหัวดำ
ลักษณะทั่วไป
- บนหัวและข้างๆแก้มตลอดจนถึงท้ายทอยมีสีดำ โคนปีกและปลายปีกมีสีดำ คางมีสีขาว รอบคอมีสีขาว บนหลัง บนปีกตลอดไปจนถึงบนหางมีสีน้ำเงินสด หน้าอกมีสีน้ำตาลอ่อน และมีสีเข้มขึ้นทางด้านใต้ท้อง ปากใหญ่และมีสีแดงสด ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะเหมือนกัน
ถิ่นที่อยู่อาศัย
- ไต้หวัน, ไหหลำ, เกาหลี, ฟิลิปปินส์, อินเดีย, บอร์เนียว, สุมาตรา, ซีลีเบส, พม่า, อันดามันส์, ฮ่องกง, ลาว, เทือกเขาตะนาวศรี, และประเทศต่างๆในแหลมอินโดจีน ในประเทศไทยมีทั่วไปทุกภาค
3. นกพญาปากกว้างท้องแดง
ลักษณะทั่วไป
- ตัวผู้และตัวเมียเหมือนกัน มีปากกว้างใหญ่ มีปากบนสีฟ้า ปากล่างสีเหลือง ทีปีกมีแถบสีขาว ขนบนหัว บนหลัง และบนปีกมีสีดำ ด้านล่างของลำตัวมีสีแดงเข้ม
ถิ่นที่อยู่อาศัย
บอร์เนียว, พม่า, มาเลเซีย, สุมาตรา, เขมร, โคชินไชน่า, ไทย, เทือกเขาตะนาวศรี สำหรับในประเทศไทย มีทางภาคใต้ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงใต้
4. นกกระเต็นใหญ่ปีกสีน้ำตาล
- ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะเหมือนกัน เป็นนกกระเต็นที่มีขนาดใหญ่วัดขนาดได้ 36 ซ.ม. ปากใหญ่มีสีแดง มีปีกสีน้ำตาลช็อกโกแลต ขนบริเวณลำตัวและหัวออกสีน้ำตาลอมเหลือง บริเวณโคนหางมีสีฟ้า
ถิ่นที่อยู่อาศัย
- เป็นนกประจำถิ่นที่หากินในแถบบริเวณป่าชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์ ส่วนใหญ่จะพบในแถบป่าชายเลนด้านตะวันตก สามารถพบเห็นได้ตลอดทั้งปี
5. นกปรอดคอลาย
ลักษณะทั่วไป
- ตัวเมียและตัวผู้เหมือนกัน ด้านบนของตัวมีสีเขียวอมน้ำตาลอ่อน ที่คอและหน้าผากเป็นแถบเล็กๆสีเหลือง ท้องและขนคลุมใต้โคนหางมีสีเหลือง
- ถิ่นที่อยู่อาศัย
- พม่า, จีน, มาเลเซียและไทย สำหรับประเทศไทยมีทั่วไปทุกภาค ยกเว้นภาคกลาง
6. นกยอดหญ้าสีเทา
ลักษณะทั่วไป
- คล้ายวงศ์นกกระจ้อย นกกระจิ๊ด (Warbler) และวงศ์นกจับแมลง (Flycatchers) เป็นนกขนาดเล็ก ปราดเปรียว จงอยปากเล็กบางและตรง เท้าเล็กแข็งแรง แข้งยาวกว่าสองวงศ์หลังเล็กน้อย ตัวผู้ตัวเมียลักษณะใกล้เคียงกัน ที่ต่างจากสองวงศ์ดังกล่าวนี้ ก็คือ ลูกนกที่ยังโตไม่เต็มวัยจะมีขนเป็นลายจุดๆ ทั่วโลกมีนกวงศ์ Turdidae อยู่ 316 ชนิด ในเมืองไทยมีรายงานพบ 49 ชนิด นกวงศ์นี้ยังแบ่งย่อยได้อีก 7 - 8 เหล่า อาทิ เหล่านกปีกสั้น (Shortwings) เหล่านกเขนน้อย (Robins) เหล่านกยอดหญ้า (Charts) และเหล่านกเดินดง (Typical Thrushes) เป็นต้น นกยอดหญ้าสีเทา มีขนาดผประมาณ 16 ซ.ม. ตัวผู้สีออกเทาๆทั้งตัว คิ้วและใต้คางขาวอมเทา วงรอบตาสีดำเหมือนสวมหน้ากาก ท้องมีสีเทาอ่อนกว่าหลัง ปีกและหางเทาเข้ม นอกฤดูผสมพันธุ์จะออกสีน้ำตาลๆมากกว่าเทา ตัวเมียรูปร่างลักษณะใกล้เคียงกัน แต่สีออกน้ำตาลๆทั้งตัว คิ้วและใต้คางอมขาว ท้องสีจางกว่าหลังและปีก สะโพกสีน้ำตาลอมแดง ส่วนลูกนกยังไม่เต็มวัย จะมีลักษณะคล้ายตัวเมีย ขนออกสีน้ำตาลเป็นจุดๆ
ถิ่นที่อยู่อาศัย
- ชอบอาศัยตามทุ่งหญ้าโล่ง ทุ่งนาและป่าละเมาะ สร้างรังวางไข่ในบริเวณพื้นที่สูง ตั้งแต่ 1,600 เมตรขึ้นไป ส่วนหนึ่งที่พบเป็นนกอพยพในฤดูหนาว อีกส่วนหนึ่งเป็นนกประจำถิ่น พบได้ทางภาคเหนือเป็นส่วนใหญ่
7. นกยางไฟธรรมดา
ลักษณะทั่วไป
- ตัวผู้และตัวเมียไม่เหมือนกัน ตัวผู้ส่วนบนของหัว คอ หลังและปีกมีสีน้ำตาลแกมแดงแก่ ขนทางด้านล่างของตัวมีสีอ่อนกว่าทางด้านบนตัว หางสั้นมากจนดูคล้ายกับไม่มีหาง ส่วนตัวเมีย มีสีแดงน้อยกว่าตัวผู้ หลังมีสีน้ำตาลแก่แกมแดง บนหัวมีสีแดงค่อนข้างดำ ใต้คางและและใต้คอมีสีน้ำตาลแดงอ่อน ปีกมีลายเป็นจุดกลมๆสีน้ำตาลอยู่ทั่วไป มีลายเป็นเส้นเล็กๆ สีน้ำตาลแก่อยู่ทั่วอกและท้อง ลักษณะรังอยู่ตามกอหญ้ารก มีหญ้ามารองเป็นรูปถ้วย มีสัญชาติญาณในการระวังภัยสูง
ถิ่นที่อยู่อาศัย
- อันดามันส์, อินเดีย, นิโคบารส์, จีน, ไหหลำ, ไต้หวัน, ซุนดาห์, ซีลีเบส, ฟิลิปปินส์, และประเทศต่างๆทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชีย สำหรับในประเทศไทย มีทั่วไปทุกภาค
8. นกปรอดหัวตาขาว
ลักษณะทั่วไป
- ตัวผู้และตัวเมียเหมือนกัน มีขนาดประมาณ 22 ซ.ม. หัวและคอสีออกเทาๆวงตาสีออกดำ มีแถบสีขาวสั้นๆตรงบริเวณหัวตาเห็นได้ชัด ขนตามลำตัวสีเขียวมะกอกอมเหลือง บริเวณใต้ท้องสีสดกว่าด้านหลัง โคนหางด้านล่างสีเหลือง เป็นนกขนาดกลาง อาศัยอยู่บนต้นไม้ มีขนอ่อนนุ่ม ส่วนใหญ่มักมีหงอนเสียงร้องไพเราะ ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง บนพุ่มไม้เตี้ยๆ ตั้งแต่ระดับความสูง 900 เมตรขึ้นไป ไม่ขี้อาย ส่วนใหญ่กินผลไม้ ลูกนกที่โดไม่เต็มวัย ตรงหัวจะเหลืองๆ หัวตาขาวเห็นไม่ชัดเจน
ถิ่นที่อยู่อาศัย
- อัสสัม, จีน, ตังเกี๋ย, พม่า, บอร์เนียว, ลาว, เวียดนามและไทย สำหรับประเทศไทยเป็นนกประจำถิ่น พบได้มากทางภาคเหนือตอนบน
9. นกเป็ดผี
ลักษณะทั่วไป
- ตัวผู้และตัวเมียเหมือนกัน ดูเผินๆคล้ายนกเป็ดน้ำ ปากแหลมไม่แบนเหมือนนกเป็ดน้ำทั่วไป ตัวเล็กเท่ากำปั้น หางสั้นมาก ตีนไม่แบนอย่างตีนเป็ด นิ้วตีนแบนเป็นพาย ไม่มีแผ่นพังผืดขึงระหว่างนิ้ว แต่จะมีพังผืดแผ่ออกรอบๆนิ้วแต่ละนิ้ว มุมปากมีสีเหลือง ในฤดูร้อนบนหัวและคอ มีสีน้ำตาลแดง ด้านใต้ท้องมีสีมอๆ บนปีกเป็นสีเหลืองจาง ด้านบนของตัวมีสีเทาอมน้ำตาล ชอบดำน้ำไล่กินอาหารตามหนองบึงทั่วไป อยู่เป็นฝูงใหญ่ในฤดูร้อนในอ่างเก็บน้ำหรือบึงใหญ่ๆ ผสมพันธุ์ฤดูฝน จะแยกกันเป็นคู่ๆ ชอบกินลูกกุ้ง ลูกปลา ลูกอ๊อด พืชในน้ำ ทำรังวางไข่บนจอกแหนที่ลอยอยู่เหนือน้ำตามหนองบึง วางไข่ครั้งละ 3 - 6 ฟอง ผลัดกันกกไข่ ราว 3 สัปดาห์ออกเป็นตัว ลูกนกจะตัวลายๆ ระหว่างที่กำลังกกไข่อยู่นั้น ถ้ามีสัตว์ที่ทำอันตรายเข้าไปใกล้ มันจะจิกใบจอกแหนมาปิดไข่ แล้วดำน้ำไปโผล่ดูอยู่ตามกอสวะ
ถิ่นที่อยู่อาศัย
- อาฟริกา, ยุโรป, อินเดีย, จีน, ไหหลำ, ไตหวัน, ฟิลิปปินส์, ซุนดาห์, นิวกีนี, โซโลมอน, และประเทศต่างๆทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชีย สำหรับในประเทศไทย มีประปรายอยู่ทั่วไปทุกภาค
10. นกพริก
ลักษณะทั่วไป
- ตัวผู้และตัวเมียเหมือนกัน แต่ตัวเมียโตกว่าตัวผู้ สีดำเหลือบเขียวเกือบทั้งตัว หัวดำ อกดำ คิ้วขาวเห็นได้ชัด ปากมีสีเหลือง โคนปากและแผ่นเนื้อหน้าผากสีแดง คล้ายกับคาบพริกไว้ ปีกสีน้ำตาล ขนใต้หางสีน้ำตาลแดง นิ้วตีนและเล็บยาวมากกว่าขาของตัวเอง จึงทำให้เดินบนจอกแหนไม่จม เวลาเดินจะกระดกหางขึ้นเป็นจังหวะเรื่อยไป ชอบอยู่ตามหนองบึงทั่วไป ชอบเดินหากินบนจอกแหน อาหาร คือ ลูกกุ้ง ลูกปลา แมลง หน่อหรือต้นอ่อนของพืชน้ำ ผสมพันธุ์ประมาณเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน ทำรังด้วยใบจอกแหน บนแพจอกแหนที่ลอยอยู่ในหนองบึง ตัวเมียวางไข่ครบ 3 - 4 ฟองแล้วก็ปล่อยให้ตัวผู้กกไข่และเลี้ยงลูกอ่อน ส่วนตัวเมียก็ไปทำรังหาคู่ใหม่ต่อไป นกตัวอ่อนสีหัวและคอเป็นสีน้ำตาล
ถิ่นที่อยู่อาศัย
- อินเดีย, จีน, สุมาตรา, ชวา, พม่า, เขมร, โคชินไชนา, เวียดนาม, ลาวและไทย สำหรับประเทศไทยมีทุกภาค ยกเว้น ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และตะวันออกเฉียงเหนือ
11. นกขุนแผน
ลักษณะทั่วไป
- ตัวผู้และตัวเมียเหมือนกัน เป็นนกที่ไม่ค่อยใหญ่นัก แต่มีหางยาวมาก และเป็นนกที่สวยงาม มองเผินๆเห็นเป็นสีฟ้า ปากมีสีแดง หน้าอก หัว และคอมีสีดำ แต่หลังคอและตรงท้ายทอยมีขนสีขาวๆ ด้านบนของตัวและปีกมีสีฟ้าแกมม่วง ขนปลายปีกมีแถบขาวตรงปลาย ขนคลุมโคนหางมีสีม่วง และแถบดำตรงปลาย ขนหางคู่บนยาวกว่าคู่อื่นๆ แลดูหางมีสีฟ้าแกมม่วง และปลายสุดมีสีขาว
ถิ่นที่อยู่อาศัย
- ไหหลำ, จีน, เทือกเขาหิมาลัย, ลาว, เขมร, เวียดนามและไทย สำหรับประเทศไทยมีทั่วไปทุกภาค
12. นกโพระดกคอสีฟ้าเคราดำ
ลักษณะทั่วไป
- นกชนิดนี้มีลักษณะเด่นคือ จากโคนปากมีแถบเล็กๆ สั้นๆ สีดำ ที่หน้าผากและส่วนหลังของกระหม่อมมีสีแดงสด ตรงกลางกระหม่อมมีสีเขียว ตามตัวและปีกส่วนใหญ่มีสีเขียวสด กินผลไม้ ทำรังวางไข่ในโพรงไม้
ถิ่นที่อยู่อาศัย
- เทือกเขาตะนาวศรี, เขมร, ลาว, เวียดนามและไทย สำหรับในประเทศไทย มีทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงใต้
13. นกกาบบัว
ลักษณะทั่วไป
- มีขนาดตัวประมาณ 40 นิ้ว ปากสีเหลืองอมส้มโค้งลง หน้าสีส้ม ตัวขาวมีลายดำพาดที่หน้าอก ส่วนบนของปีกมีลายดำอมเขียวสะท้อนแสง ขนบริเวณหลังถึงหางมีสีชมพู ปลายหางสีดำ ขายาว ลักษณะเหมือนกันทั้งสองเพศ มักพบอยู่ด้วยกันเป็นคู่ หรือเป็นฝูงตามท้องนา เป็นนกที่ไม่ค่อยคล่องแคล่ว วันๆจะยืนนิ่งๆ หรือไม่ก็เดินช้าๆ เงียบๆ ตามทุ่งนาเพื่อหาปลา หากบกิน เป็นนกที่ไม่ค่อยพบเห็นบ่อยมากนัก ผสมพันธุ์ปลายฤดูฝนจนถึงฤดูหนาว (กันยายน - พฤศจิกายน) ทำรังบนต้นไม้ที่อยู่ใกล้น้ำ หรือในน้ำ สร้างรังด้วยกิ่งไม้สานกันตื้นๆ บุด้วยใบไม้หรือฟาง วางไข่ครั้งละ 3 - 5 ฟอง ไข่มีสีขาว ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำงาน
ถิ่นที่อยู่อาศัย
- อินเดีย, ศรีลังกา, พม่า, ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน, ลาว, เขมร, เวียดนาม, มาเลเซียและไทย สำหรับประเทศไทยมีตั้งแต่ภาคกลางตลอดจนถึงภาคใต้ นกกาบบัวนี้อยู่ในบัญชีสัตว์คุ้มครองประเภทที่ 1
14. นกกระทุง
ลักษณะทั่วไป
- เป็นนกขนาดใหญ่ มีความยาวจากปากถึงปลายหางประมาณ 52 - 60 นิ้ว เป็นนกน้ำ ขาสั้นใหญ่ ปากยาวแบนข้างใต้มีถุงสีออกม่วงขนาดใหญ่ บริเวณขอบปากบนมีจุดสีน้ำเงินเข้มอยู่เป็นระยะตามความยาวของจงอยปาก ตีนมีพังผืดสีเหลืองขึงเต็มระหว่างนิ้วทุกนิ้วคล้ายเป็ด ม่านตาสีแดง แข้งและเท้าสีเนื้อ สามารถว่ายน้ำได้ดี บินได้สูง ในฤดูผสมพันธุ์ ขนจะเปลี่ยนเป็นสีเทาเงินในช่วงบนของลำตัว ส่วนช่วงล่างจะเป็นสีขาว แต่ถ้าไม่ใช่ฤดูผสมพันธุ์ ปีก หางและส่วนใต้ลำตัว จะมีสีน้ำตาลเช่นเดียวกับนกกระทุงที่ยังไม่โตเต็มที่ ทั้งตัวผู้และตัวเมียรูปร่างและสีสันเหมือนกัน นกกระทุงชอบอยู่เป็นฝูง กินปลา กุ้ง กบ สัตว์เลื้อยคลานเล็กๆเป็นอาหารและหาอาหารด้วยกัน ถ้าตัวใดตัวหนึ่งทำอะไรตัวอื่นจะทำตาม เวลาที่มันอยู่เฉยๆจะหันหน้าไปทางเดียวกันหมด เวลาบินจะหดคอเข้ามา บินกันเป็นแถวเรียงหนึ่ง บางครั้งบินเป็นรูปตัว "วี" (V) ส่วนใหญ่จะบินเป็นรูปขั้นบันไดกว้างๆ รังสร้างด้วยกิ่งไม้ใหญ่ๆวางสานกันบนต้นไม้สูงๆ ขนาดของรังมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 ฟุต วางไข่ครั้งละประมาณ 3 ฟอง ไข่มีสีขาว ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันกกไข่ประมาณ 4 - 5 อาทิตย์ จึงฟักเป็นตัว คนยุโรปในยุคกลางเชื่อกันว่านกกระทุงเลี้ยงลูกอ่อนด้วยเลือดของมันเอง โดยใช้ปากเจาะเลือดจากอกของมัน
ถิ่นที่อยู่อาศัย
- อินเดีย, จีน, ไหหลำ, ไต้หวัน, ซุนดาห์, ออสเตรเลีย, โซโลมอน, อินโดจีน, ฟิลิปปินส์, แหลมมลายูและไทย ประเทศไทยมีอยู่ทั่วไปทุกภาค ปัจจุบันเป็นนกที่ค่อนข้างพบเห็นยากมาก เคยพบปนอยู่กับฝูงนกปากห่างที่วัดไผ่ล้อม จ.ปทุมธานี
15. นกอีแจว
ลักษณะทั่วไป
- เป็นนกที่มีขนาดใหญ่ ตัวยาวประมาณ 10 นิ้ว และหางยาวอีกประมาณ 10 นิ้ว จากกลางหัวถึงส่วนล่างของท้ายทอยมีสีเหลือง ส่วนเหนือจมูก ใต้คาง หน้าและคอมีสีขาว ระหว่างสีเหลืองและสีขาวนี้มีแถบน้ำตาลเล็กๆขึ้นในฤดูผสมพันธุ์ ลำตัวสีช๊อกโกแล๊ต หางยาวโค้งลง มีปีกสีขาว ถ้าไม่ใช่ฤดูผสมพันธุ์ลำตัวจะมีสีน้ำตาลและขนหางไม่ยาว นกอีแจวที่ยังไม่โตเต็มที่จะไม่มีสีเหลืงจัดตรงท้ายทอย แต่จะมีสีเหลืองซีดๆ และมีแถบน้ำตาลคาดที่อกตัดกับสีขาวใต้ลำตัว นิ้วตีนของนกในตระกูลนี้ยาวมาก เพื่อพยุงตัวมิให้จมลงในขณะเดินบนใบบัว หรือบนพืชน้ำอื่นๆ ทั้งสองเพศมีรูปร่างและสีสันเหมือนกัน ชอบอยู่เดี่ยวๆหรืออาจพบอยู่กันเป็นฝูงเล็กๆตามหนอง บึง แต่ชอบอยู่ที่โล่งมากกว่าบริเวณน้ำที่ใกล้พุ่มไม้ อาหารได้แก่ พวกเมล็ดพืชน้ำ แมลงที่อาศัยอยู่ตามน้ำ และบางครั้งอาจกินพวกหอย นอกฤดูผสมพันธุ์ นกอีแจวจะมีสีกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจจะเป็นพวกกอบัวแห้งๆได้อย่างดี สร้างรังโดยใช้ต้นอ้อบิดวางเป็นแผ่นบนใบบัว หรือวัชพืชน้ำอื่นๆ บางครั้งวางไข่บนใบไม้น้ำเลยทีเดียว วางไข่ครั้งละ 4 ฟอง มีสีเขียวบรอนซ์สะท้อนแสง หรือสีน้ำตาลเข้ม ตัวเมียมีคู่หลายตัว
ถิ่นที่อยู่อาศัย
- ไหหลำ, จีน, อินเดีย, ไต้หวัน, ซุนดาห์, ฟิลิปปินส์, ประเทศต่างๆในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชีย สำหรับประเทศไทย พบทางภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคเหนือ เป็นนกประจำถิ่น
16. นกศิวะหางสีน้ำตาล
ลักษณะทั่วไป
- เป็นนกที่มีขนาดปานกลาง ตัวผู้และตัวเมียเหมือนกัน ทางด้านบนของตัวมีสีเขียวมะกอก ด้านล่างมีสีอ่อนกว่าบนหลัง รอบตามีสีเหลือง หางและปีกบางส่วนมีสีน้ำตาลแกมแดง หน้าผากมีสีน้ำตาลแดง ที่คอมีลายขวางสีดำ
ถิ่นที่อยู่อาศัย
- เทือกเขาหิมาลัย, จีน, มาเลเซีย, ตังเกี๋ย, ลาวและไทย สำหรับในประเทศไทยมีอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น